Friday, November 11, 2011

Instruction : คำแนะนำอย่างไม่เป็นทางการ




[สุขสันต์ 11/11/11 ครับ]

ก่อนจะเริ่มเรียน

  • เรากำลังจะทำอะไร ?; คำถามแรกที่ควรถามตนเอง
  • เรากำลังทำเพื่ออะไร ?; นั่นคือคำถามที่ตามมา
  • เรากำลังมีความสุขกับมันหรือเปล่า ?; คำถามสุดท้ายที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป

เมื่อเริ่มต้นทำสิ่งใด คำถาม 3 ข้อนี้ควรอยู่ในใจเสมอ, เราจะทำอะไร เพื่ออะไร และมีความสุขกับมันหรือไม่, คำตอบของคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ ทั้งในแง่กระบวนการและจุดมุ่งหมาย ตลอดจนความรู้สึกของเรา เพื่อที่เราจะได้ปรับทัศนคติและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับธรรมชาติของจิตใจ เพิ่มพูนความสุขในการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม

ศ. ดร.ทาล เบน-ชาฮาร์ (Tal Ben-Shahar, Ph.D.) อธิบายรูปแบบพฤติกรรมของคนทั่วไปไว้ในหนังสือเปิดห้องเรียนวิชาความสุข (Happier, 2007) โดยจัดกลุ่มพฤติกรรมเป็น 4 รูปแบบ เรียกรวมว่า "แบบจำลองแฮมเบอร์เกอร์" (สื่อถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ช่วยให้ท้องอิ่มได้เร็ว แต่กลับเป็นโทษในระยะยาว) การแบ่งกลุ่มแบบนี้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับในปัจจุบันและอนาคตเป็นเกณฑ์ ประกอบด้วย
  • คนเจ้าสำราญ ปล่อยใจให้กับสุขปัจจุบัน ไม่สนใจอนาคต
  • หนูวิ่งแข่ง มองไกลถึงอนาคต แต่ทนทุกข์กับปัจจุบัน
  • คนหมดอาลัยตายอยาก โลกนี้ไร้ความหมาย ไร้อนาคต
  • รูปแบบความสุข สุขทั้งปัจจุบันและอนาคตไปพร้อมกัน

ผมเปรียบเทียบ 3 รูปแบบแรกให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ในการเรียนของพวกเรานั้น ก่อนสอบเรามักจะทำตัวเป็นคนเจ้าสำราญ ไม่สนใจการเรียนเท่าที่ควรเพราะเห็นว่ายังมีเวลาเหลืออีกมาก จึงทำตัวเสเพลดื่มกินไปวันๆ จนเมื่อใกล้สอบเราจะทำตัวเหมือนหนูวิ่งแข่ง ละทิ้งความสุขทุกอย่างเพื่อตั้งใจอ่านหนังสือ อาจถึงขั้นไม่กินไม่นอนเพียงเพื่อจะได้มีความรู้เข้าห้องสอบ โดยคาดหวังว่าทั้งหมดที่เราทุ่มเทไปจะช่วยให้คะแนนสอบออกมาดี ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าอนาคตแท้จริงจะเป็นอย่างไร เราอาจมีเวลาโล่งใจบ้างเล็กน้อยในช่วงหลังสอบและปิดเรียน แต่เมื่อประกาศผลสอบแล้วหลายคนกลับกลายเป็นคนหมดอาลัยตายอยาก จมปลักอยู่กับความทุกข์และยอมจำนนต่ออุปสรรคทั้งปวง

พอเวลาผ่านไปสักพัก เราจะเริ่มทำใจได้แล้วบอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร เทอมหน้าเอาใหม่”; แล้วก็วนเข้าสู่วัฏจักรเดิม หมุนวนไปเทอมแล้วเทอมเล่าไม่รู้จักจบสิ้น

----------


การสอบวิชาจุลกายวิภาคศาสตร์ ภาคทฤษฎี ปลายภาคเรียนที่ 1 
ภาพโดย รัตนาดิศร

----------

หากมองเฉพาะเรื่องการเรียน เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร ไม่รู้ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร และมองไม่เห็นความสุขในการเรียน เราจึงคิดว่าการเรียนเป็นความทุกข์ เป็นอุปสรรค เมื่อมีโอกาสเลี่ยงได้พึงเลี่ยงให้ไกล หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็ยอมทุ่มเทกับมันแค่พอให้ผ่านพ้นไป ท้ายที่สุดแล้วก็จมอยู่ในกองทุกข์ที่ตนเองสร้างขึ้นมา

ในทางกลับกัน, พฤติกรรมรูปแบบความสุข, หากเรารู้ว่าเรากำลังเรียน เรียนเพื่อจะได้มีความรู้ไว้ใช้งานในอนาคต และมีความสุขในทุกๆ ครั้งที่เรามีความรู้เพิ่มมากขึ้น มองเห็นว่าการเรียนของเรานี้น่าพอใจและเต็มเปี่ยมด้วยความหมาย เราจะเรียนได้อย่างสนุกสนาน เปรียบเหมือนการทำงานศิลปะที่เราทำแล้วมีความสุขกับมันอยู่ตลอดเวลา

ศ. ดร.เบน-ชาฮาร์ สอนให้เราเน้นเอา “ความสุข” เป็นหน่วยวัดความสำเร็จ ไม่ใช่คะแนนหรือเงินตรา การจะเข้าถึงความสุขได้นั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต ปรับให้สอดคล้องสมดุล ก่อนจะตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วพุ่งเข้าหามันอย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ในปัจจุบันจะช่วยให้เราพึงพอใจในกิจกรรมที่ทำ และย้อนกลับมาเป็นแรงจูงใจ ผลักดันให้เราก้าวไปสู่จุดหมายในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปรับทัศนคติของเราต่อความสุขและความสำเร็จในการเรียน ถ้าเราถือเอาคะแนนเป็นหลัก เราจะตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ เราจะยอมทุ่มเทแม้ว่าเราจะไม่มีความสุขกับมันเลย แต่ถ้าเราถือเอาความสุขในการเรียนเป็นหลัก เราจะรู้สึกพึงพอใจในทุกครั้งที่เรามีความรู้มากขึ้น การอ่านหนังสือจะไม่ใช่ยาขม แต่จะเป็นลูกอมหวานสำหรับเรา

เราคงเคยได้ยินอาจารย์หรือรุ่นพี่หลายคนที่เรียนเก่งและมีความสุขกับการเรียนแนะนำว่า “อ่านเรื่องที่เราอยากรู้ ไม่ใช่อ่านในเรื่องที่คนอื่นบังคับให้เรารู้” ถ้าเราอยากมีความรู้เพิ่ม เราจะรู้สึกอยากอ่านอยากค้นคว้าด้วยตัวของเราเอง แต่หากใครมาบังคับเราแล้ว ต่อให้จ้างด้วยเงินเป็นล้านก็อดทนอ่านได้ไม่นาน แถมจำไม่ได้อีกด้วย

----------
 

การสอบวิชาจุลกายวิภาคศาสตร์ ภาคปฏิบัติ ปลายภาคเรียนที่ 1 
ขอบคุณภาพจาก อ. นพ.ธนิต  ประสพโภคากร

----------

เกี่ยวกับความสุขในการเรียนนี้ ศ.ดร.เบน-ชาฮาร์ อธิบายแบบจำลองในการเรียนเอาไว้ 2 แบบ แบบแรกคือ “แบบจำลองของการจมน้ำ” และแบบที่สองคือ “แบบจำลองของการร่วมรัก”

แบบจำลองแรก สะท้อนภาพการเรียนด้วยความทุกข์ ปราศจากความรักและความสนใจในสิ่งที่เรียน ความสุขของคนที่เรียนแบบนี้จะอยู่ที่การปิดเทอมหลังสอบหรือการเรียนจบ เปรียบเหมือนคนที่กำลังตะเกียกตะกายอยู่ในน้ำ พอโผล่หัวพ้นน้ำมาได้นิดหน่อยก็เป็นสุข แล้วก็ตะเกียกตะกายกันต่อ การเรียนแบบนี้ไม่ต่างกับหนูวิ่งแข่งอย่างเราๆ ท่านๆ นี้เอง ที่เชื่อมั่นว่า “ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่เจ็บปวด – no pain, no gain” แต่กลับดูเหมือนจะทำให้เรา “เจ็บแต่ไม่ได้อะไร – pain without gain” อยู่เสมอ

ส่วนแบบจำลองที่สอง สะท้อนภาพการเรียนที่มีความสุขในทุกๆ ขณะ ผู้เรียนจะมีความสุขกับความรู้ที่เพิ่มพูนและสุขมากที่สุดเมื่อเรียนจบ เปรียบเหมือนการร่วมรักที่ทุกขั้นตอนเกิดขึ้นจากความพึงพอใจ นับแต่การเล้าโลม ดำเนินต่อไปด้วยความสุขทุกท่วงท่าและบรรลุจุดสุดยอดในตอนสุดท้าย ความรู้สึกแบบนี้เรียกว่า “ความลื่นไหล (flow)” แสดงถึงความสุขในทุกขั้นตอนการทำงานจนกระทั่งงานนั้นสำเร็จ เหมือนกับว่าเรา "ได้มาโดยไม่เจ็บปวด - gain without pain" อย่างไรอย่างนั้น

คนที่เรียนแบบจมน้ำมักจะเข็ดขยาดเมื่อต้องกลับมาเรียน แต่คนที่เรียนแบบร่วมรักจะมีความสุขและพร้อมที่จะกลับมาเรียนอยู่เสมอ; จริงหรือไม่ ลองถามใจตัวเองดู

ถึงบรรทัดนี้ เราได้รู้แล้วว่าก่อนเรียนเราจะต้องถามตนเองอย่างไร และในขณะเรียนเราจะปรับทัศนคติของเราอย่างไร  ไม่เฉพาะแต่วิชามหกายวิภาคศาสตร์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงวิชาอื่นๆ ทุกวิชาด้วย ผมไม่ต้องการให้นักศึกษาในความดูแลของผมต้องทนทุกข์ทรมานกับการเรียนมากจนเกินไป แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความรู้ทางการแพทย์นั้นเพิ่มพูนมากขึ้นทุกขณะ และอาจจะมากเกินกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้หมดในหนึ่งชีวิต แต่ปริมาณข้อมูลคงไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก สำคัญที่เรารู้จักเลือกใช้วิธีการเรียนที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้เรามีความสุขกับการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตของเรา

พึงระลึกเสมอว่า ความสุขในการเรียนจะช่วยให้เราเรียนได้อย่าง “ลื่นไหล” มากขึ้น แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วอาจไม่ได้ช่วยให้เรามีคะแนนสูงสุดในชั้นเรียน และอาจไม่ได้ประกันถึงปริญญาเกียรตินิยม แต่เราจะไม่เบื่อหน่ายในการเรียน ไม่เกรงกลัวการสอบ และสามารถแบ่งเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างที่เราพอใจ

รัตนาดิศร

http://si-anatomy.blogspot.com
http://raynartz.blogspot.com

----------


การสอบวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ภาคปฏิบัติ ปลายภาคเรียนที่ 1 
ขอบคุณภาพจาก อ. นพ.ธนิต  ประสพโภคากร

----------

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ “เปิดห้องเรียนวิชาความสุข” 
โดย ศ. ดร. ทาล เบน-ชาฮาร์

ใครมีคำแนะนำดีๆ ในการปรับปรุงบล็อก โพสต์บอกกันได้ข้างล่างนี้เลยครับ 
  




0 Comments:

Post a Comment